หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาจากสมุนไพร

   

อาคารสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ 

อาคาร สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ ต้องได้รับการออกแบบติดตั้ง ก่อสร้าง ปรับปรุงและบำรุงรักษาให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดพลาด สามารถทำความสะอาดและบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการปนเปื้อนของตัวยาต่างชนิดกันและการสะสมของฝุ่นละอองสิ่งสกปรก ซึ่งมีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์

  

อาคารสถานที่ 

1 .อาคาร สถานที่ผลิตยา ต้องตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสู่วัตถุดิบ วัสดุสำหรับการบรรจุและผลิตภัณฑ์

2 .ต้องมีการบำรุงรักษาซ่อมแซมอาคารสถานที่อย่างระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดผลเสียหายต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อตามความจำเป็นตามวิธีปฏิบัติที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

3 .มีแสงสว่างเพียงพอ มีอุณหภูมิ ความชื้นและการถ่ายเทอากาศที่เหมาะสมเพื่อมิให้เกิดผลทั้งทางตรงหรือทางอ้อมต่อผลิตภัณฑ์ในระหว่างการผลิตหรือเก็บรักษา

4 ออกแบบก่อสร้างให้สามารถป้องกันสัตว์และแมลงเข้าสู่อาคารสถานที่ผลิต

บริเวณผลิตยา

1.จัดให้มีพื้นที่อย่างเพียงพอและเป็นสัดส่วนสำหรับการผลิตและการเก็บยาระหว่างการผลิต จัดวาง อุปกรณ์ และวัสดุต่างๆ อย่างเป็นระเบียบเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสับสนของผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบต่างชนิดกัน ป้องกันการปนเปื้อนของยาต่างชนิดกันและการผลิตที่ผิดขั้นตอน

2 .พื้นผิวภายใน เช่น ฝา พื้น และเพดานต้องเรียบไม่มีรอยแตกร้าว สามารถทำความสะอาดง่ายและทำการฆ่าเชื้อได้ในกรณีจำเป็น

3.ท่อระบายน้ำต้องเป็นท่อปิด มีขนาดพอเหมาะและมีที่ดักเศษผง ไม่ควรเป็นท่อเปิด ถ้าเป็นท่อเปิดต้องมีความตื้นเพียงพอเพื่อให้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ง่าย

4. ในกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดฝุ่นผง เช่น การชั่ง ผสม จะต้องมีมาตรการเป็นพิเศษในบริเวณดังกล่าวเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและทำความสะอาดได้ง่าย

5 .ออกแบบบริเวณบรรจุยาเพื่อป้องกันการสับสนหรือปนเปื้อนยาต่างชนิดกัน

บริเวณที่ใช้ในการเก็บ ยา และวัสดุอื่นๆ

1. มีพื้นที่เพียงพอสำหรับแยกเก็บวัตถุดิบ วัสดุสำหรับการบรรจุ ยาระหว่างผลิต ยารอการบรรจุและยาสำเร็จรูปอย่างเป็นสัดส่วนและเป็นระเบียบ

2. สะอาดและแห้งและมีการถ่ายเทอากาศที่ดี มีการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นตามความจำเป็น

3.ทำความสะอาดภาชนะบรรจุวัตถุดิบและวัสดุอื่นๆ ที่รับเข้าก่อนนำไปจัดเก็บตามความจำเป็น

4.มีพื้นที่หรือบริเวณเฉพาะสำหรับเก็บวัตถุดิบ วัสดุสำหรับการบรรจุ และยาสำเร็จรูปที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งยาคืนหรือยาที่เรียกเก็บคืนจากท้องตลาดเป็นการเฉพาะตามความจำเป็นและเหมาะสม

5.จัดเก็บวัสดุสำหรับการบรรจุที่เป็นสิ่งพิมพ์ให้ปลอดภัย ป้องกันการสูญหาย

บริเวณอื่นๆ

1. ต้องแยกสถานที่พักผ่อนหรือรับประทานอาหารออกจากบริเวณผลิตยา

2. จัดให้มีสถานที่เปลี่ยนเสื้อผ้า อุปกรณ์ล้างมือ ห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะและมีจำนวนเพียงพอกับจำนวนพนักงาน ห้องส้วมต้องไม่ติดต่อโดยตรงถึงบริเวณผลิตหรือบริเวณจัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ

3. แยกบริเวณซ่อมบำรุงออกจากบริเวณผลิตยา ในกรณีที่เก็บชิ้นส่วนหรือเครื่องมือไว้ในบริเวณผลิตยา ให้เก็บไว้ในห้องหรือตู้แยกเป็นสัดส่วน

 

เครื่องมือและอุปกรณ์

1 .บำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการใช้ การบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือและและอุปกรณ์ ให้บันทึกไว้และต้องไม่เกิดผลเสียต่อคุณภาพของยา

2. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตยา ต้องออกแบบให้สามารถทำความสะอาดได้ง่ายและทั่วถึง จัดเก็บในสภาวะที่สะอาดและแห้ง

3 .ให้มีอุปกรณ์สำหรับล้างและทำความสะอาดที่เหมาะสมไว้ใช้เพื่อการทำความสะอาดและไม่เป็นแหล่งสะสมของสิ่งปนเปื้อน

4 .ติดตั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ในลักษณะที่สามารถป้องกันความผิดพลาดหรือปนเปื้อน

5. อุปกรณ์การผลิตต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อยาที่ผลิต ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ที่สัมผัสกับยาในระหว่างกระบวนการผลิตต้องไม่มีปฏิกริยาหรือดูดซับยาเหล่านั้นไว้

6 .ในกรณีที่เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้งานไม่ได้ ต้องเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณผลิตยาหรืออย่างน้อยปิดฉลากแสดงให้เห็นชัดเจนว่า “ชำรุด รอการซ่อมแซม”

 

การจัดทำเอกสาร

การจัดทำเอกสารที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น การบันทึกเอกสารอย่างชัดเจนและถูกต้องจะช่วยป้องกันความผิดพลาดจากการสื่อสารด้วยวาจาและทำให้สามารถสืบย้อนทวนกลับได้ง่าย

1 .เอกสารที่จัดทำขึ้นต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้รับผิดชอบ โดยลงลายมือชื่อพร้อมวันที่กำกับไว้2 .เอกสารต้องมีข้อความที่ชัดเจน ควรจัดรูปแบบและลำดับขั้นตอนของเอกสารให้ตรวจสอบได้ง่าย

2 .การลงบันทึกข้อมูลให้ใช้หมึกถาวร เขียนให้ชัดเจน อ่านง่าย ลบไม่ได้ แบบฟอร์มต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการบันทึก

3 .การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลในเอกสาร ให้ใช้วิธีขีดฆ่าข้อความเดิมพร้อมลงลายมือชื่อของผู้แก้ไข และวันเดือนปีกำกับ เพื่อให้เห็นข้อความเดิมก่อนการแก้ไขอย่างชัดเจนและต้องบันทึกเหตุผลในการแก้ไขกำกับไว้ในกรณีที่จำเป็น

4 .การบันทึกต่างๆ ต้องทำการบันทึกให้เสร็จในขณะกำลังปฏิบัติงานนั้นๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับกิจกรรมสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตได้

เอกสารที่ต้องจัดทำ

1 .ให้มีบันทึกการรับวัตถุดิบ ภาชนะบรรจุยา วัสดุสำหรับการบรรจุที่เป็นสิ่งพิมพ์ทุกครั้งที่รับเข้า

2 .ให้มีวิธีปฏิบัติและบันทึกเกี่ยวกับการทำความสะอาดสถานที่ผลิตยาและอุปกรณ์การผลิตที่สำคัญ  การฝึกอบรมพนักงาน  การแต่งกายของพนักงาน  การรักษาสุขอนามัยของพนักงาน

3 .ให้มีการจัดทำเอกสารแม่บทของยาทุกตำรับ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            (1.) ชื่อยา

           (2.) ลักษณะ ความแรง และขนาดของรุ่นที่ผลิต

           (3.) ชื่อและปริมาณวัตถุดิบที่ใช้

           (4.) รายละเอียดของขั้นตอนวิธีการผลิตและรายชื่ออุปกรณ์การผลิตที่สำคัญ

           (5.) รายละเอียดการควบคุมระหว่างผลิต

           (6.) ขนาดบรรจุ

           (7.) รายละเอียดวัสดุสำหรับการบรรจุที่ใช้ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุ

           (8.) รายละเอียด ขั้นตอนวิธีการบรรจุ และรายชื่ออุปกรณ์การบรรจุที่สำคัญ

           (9.) รายละเอียดการควบคุมระหว่างบรรจุ การสุ่มตัวอย่าง และเกณฑ์ยอมรับ

4 ให้มีการจัดทำบันทึกกระบวนการผลิตของยาทุกรุ่นที่ผลิตที่สอดคล้องกับเอกสาร  แม่บทที่ได้รับอนุมัติจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

           (1) ชื่อยา

           (2) เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต และวันเดือนปีที่ผลิต

           (3) วัน เดือน ปีและเวลาของแต่ละขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด

           (4) ลายมือชื่อ พนักงานที่ปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ และลายมือชื่อ พนักงานที่ตรวจสอบแต่ละขั้นตอนการผลิตดังกล่าวตามความเหมาะสม (เช่น การชั่งยา)

           (5) ปริมาณวัตถุดิบแต่ละรายการที่ชั่งจริง

           (6) รายละเอียดของขั้นตอนวิธีการผลิตและรายชื่ออุปกรณ์การผลิตที่สำคัญ

           (7) บันทึกการควบคุมยาระหว่างผลิต และลายมือชื่อผู้ควบคุมและผลที่ได้

           (8) ปริมาณยาที่ผลิตได้ในขั้นตอนต่างๆที่สำคัญ

           (9) บันทึกปัญหาหรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นรวมทั้งรายละเอียด ในกรณีที่ปฏิบัติแตกต่างไป

           จากเอกสารแม่บท ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ

5 ให้มีการทำบันทึกการบรรจุของยาทุกรุ่น โดยมีรายละเอียดดังนี้

           (1) ชื่อยา

           (2) เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต

           (3) ปริมาณยารอการบรรจุ

           (4) จำนวนยาสำเร็จรูปที่บรรจุได้จริง

           (5) วัน เดือน ปี และช่วงเวลาที่ใช้ในการบรรจุ

           (6) ลายมือชื่อพนักงานที่ปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนที่สำคัญของการบรรจุ

           (7) รายละเอียดขั้นตอนวิธีการบรรจุ รายชื่ออุปกรณ์การบรรจุ และสายการบรรจุที่ใช้

           (8) บันทึกการตรวจสอบวัสดุที่เบิกมาใช้รวมทั้งผลการตรวจสอบยาระหว่างการบรรจุ

           (9) ตัวอย่างวัสดุสำหรับการบรรจุที่พิมพ์ข้อความแล้วที่ใช้

           (10) บันทึกปัญหาหรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นรวมทั้งรายละเอียด ในกรณีที่ปฏิบัติแตกต่างไป จากเอกสารแม่บท ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ

           (11) ชนิดและจำนวนวัสดุสำหรับการบรรจุ และปริมาณยารอการบรรจุที่เบิก ที่ใช้ ที่ทำลาย  หรือคืนคลัง รวมทั้งปริมาณยาที่ผลิตได้เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องกัน

การดำเนินการผลิต

การดำเนินการผลิตต้องปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธี

การที่ดีในการผลิต ทั้งนี้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยาที่ได้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด

การควบคุมวัตถุดิบ

1 ให้ดำเนินการจัดซื้อวัตถุดิบจากแหล่งจำหน่ายที่ได้คัดเลือกและอนุมัติแล้ว

2 ตรวจสอบวัตถุดิบที่เข้ามาแต่ละรุ่นเกี่ยวกับสภาพความสมบูรณ์ของภาชนะบรรจุหรือหีบห่อและการปิดผนึก และตรวจสอบว่าวัตถุดิบที่ส่งมอบตรงกับใบสั่งซื้อหรือไม่ ทำความสะอาดภาชนะบรรจุตามความจำเป็นและปิดฉลากไว้

3 ถ้าพบว่าภาชนะบรรจุหีบห่อได้รับความเสียหายหรือมีปัญหาที่อาจมีผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ ต้องทำการตรวจสอบ และบันทึกการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

4 ต้องจัดเก็บสมุนไพรที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการผลิตในบริเวณที่แยกเป็นสัดส่วน มีการถ่ายเทอากาศที่ดี สามารถป้องกันแมลงและสัตว์โดยเฉพาะสัตว์แทะ มีมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของสัตว์ดังกล่าวตลอดจนจุลินทรีย์ที่ติดมาพร้อมกับสมุนไพรและสามารถป้องกันการปนเปื้อนระหว่างสมุนไพรต่างชนิดกัน ให้จัดวางภาชนะบรรจุสมุนไพรในลักษณะที่มีการระบายอากาศได้ดี

5 จัดเก็บวัตถุดิบให้เป็นระเบียบโดยจัดเก็บแยกตามชนิดของวัตถุดิบและให้มีการเบิกจ่ายตามลำดับ

6 ฉลากบนภาชนะบรรจุวัตถุดิบแต่ละชนิดจะต้องมีข้อความอย่างน้อยดังนี้

           – ชื่อวัตถุดิบหรือ รหัสที่กำหนดขึ้น (ถ้ามี)

           – เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตจากแหล่งผลิตหรือที่กำหนดขึ้นเอง

           – วันที่รับเข้า

7 ในการผลิตยาแต่ละครั้งต้องมีการตรวจสอบวัตถุดิบที่ใช้ รวมทั้งตรวจสอบน้ำหนักหรือปริมาตรวัตถุดิบที่ใช้และบันทึกการตรวจสอบไว้

8 น้ำที่ใช้ผลิตยาเป็นน้ำที่ใสสะอาดไม่มีกลิ่น สี หรือตะกอนในน้ำ ใช้น้ำที่มีคุณภาพตามมาตรฐานน้ำบริโภค

การควบคุมวัสดุสำหรับการบรรจุ

1 การจัดซื้อ การบริหารจัดการและควบคุมวัสดุสำหรับการบรรจุที่สัมผัสกับยาโดยตรงและที่เป็นสิ่งพิมพ์ให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกับวัตถุดิบ

2 ภาชนะบรรจุยาก่อนบรรจุยา ต้องสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อน เช่น ฝุ่นผง เศษแก้วหรือเศษโลหะ

3 วัสดุสำหรับการบรรจุที่เป็นสิ่งพิมพ์ ให้เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้าไปในบริเวณดังกล่าว การเก็บหรือขนย้ายวัสดุดังกล่าวของแต่ละตำรับต้องแยกเป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันการสับสน

4 วัสดุสำหรับการบรรจุที่เป็นสิ่งพิมพ์ที่ไม่ประสงค์จะใช้แล้วให้นำไปทำลายและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

การควบคุมกระบวนการผลิต

1 ในระหว่างการผลิตให้บันทึกข้อมูลในขณะปฏิบัติงานและหลังจากปฏิบัติงานเสร็จแต่ละขั้นตอนลงในบันทึกกระบวนการผลิต และหัวหน้าผู้รับผิดชอบกระบวนการผลิตต้องตรวจสอบบันทึกดังกล่าว พร้อมทั้งลงลายมือชื่อและวันที่ไว้เป็นหลักฐาน

2 ดำเนินการควบคุมยาระหว่างผลิตภายในบริเวณผลิตยา

3 ก่อนที่จะเริ่มการผลิตต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริเวณที่เกี่ยวกับการผลิตยาเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตมีความสะอาด ต้องไม่มีวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ยาอื่น วัสดุสำหรับการบรรจุ และเอกสารต่าง ๆ จากการผลิตครั้งก่อนหลงเหลืออยู่ โดยบันทึกการตรวจสอบไว้

4 ต้องไม่ดำเนินการผลิตยาต่างชนิดกันในเวลาเดียวกันหรือในห้องเดียวกัน นอกจากจะมีมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอที่จะไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการสับสนหรือปนเปื้อนยาต่างชนิดกัน

5 ต้องมีมาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายของผงยาในระหว่างการดำเนินการผลิตที่มีการใช้ตัวยา ที่มีลักษณะเป็นผงแห้ง

6. ในระหว่างการผลิต ภาชนะบรรจุวัตถุดิบ ยาระหว่างผลิต ยารอการบรรจุ อุปกรณ์การผลิตที่สำคัญหรือห้องที่ใช้ผลิต ต้องติดป้ายหรือฉลาก แสดงชื่อยา เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต

7 ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้าไปในบริเวณผลิต

การควบคุมการบรรจุ

1 ในระหว่างการบรรจุให้บันทึกข้อมูลลงในบันทึกการบรรจุในขณะปฏิบัติงาน และหลังจากปฏิบัติงานเสร็จแต่ละขั้นตอน หัวหน้าผู้รับผิดชอบการบรรจุต้องตรวจสอบบันทึกการบรรจุพร้อมทั้งลายมือชื่อและวันที่ไว้เป็นหลักฐาน

2การบรรจุยา ให้ระมัดระวังไม่ให้เกิดการปนเปื้อนหรือเกิดการสับสนของยาต่างชนิดกัน ต้องไม่บรรจุยาต่างชนิดกันในบริเวณใกล้กันนอกจากจะแบ่งแยกพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจน

3 ก่อนเริ่มการบรรจุให้ตรวจสอบบริเวณที่บรรจุยาในแต่ละสาย เครื่องพิมพ์และอุปกรณ์อื่น ๆ ว่าปราศจากผลิตภัณฑ์ยาอื่น ๆ หรือเอกสารใด ๆ ในการผลิตครั้งก่อนหลงเหลืออยู่โดยการบันทึกการตรวจสอบไว้เป็นหลักฐาน

4 ให้ตรวจสอบยาและวัสดุสำหรับบรรจุที่รับเข้ามายังฝ่ายบรรจุให้ถูกต้องทั้งชนิดและปริมาณก่อนดำเนินการบรรจุ และติดป้ายแสดงชื่อยาและเลขที่แสดงครั้งที่ผลิตของยาที่จะบรรจุของแต่ละสายการบรรจุ

5 หลังการบรรจุยาใส่ภาชนะและปิดผนึกแล้วต้องปิดฉลากทันที ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ต้องมีวิธีการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสับสนหรือปิดฉลากผิด

6. ตรวจสอบการพิมพ์ข้อความบนวัสดุสำหรับการบรรจุ เช่น เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต วันสิ้นอายุและบันทึกผลการตรวจสอบไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิมพ์ด้วยมือต้องตรวจสอบเป็นระยะ ๆ

7 ให้มีการควบคุมการบรรจุตามหัวข้อต่อไปนี้

           (1) ลักษณะภายนอกโดยทั่วไปของยาที่บรรจุแล้ว

           (2) ความเรียบร้อยสมบูรณ์ของการบรรจุ

           (3) ใช้ยาและวัสดุสำหรับการบรรจุถูกต้องหรือไม่

           (4) สิ่งที่พิมพ์เพิ่มบนฉลากถูกต้องหรือไม่

8 เมื่อเสร็จการบรรจุแล้ว ให้ตรวจสอบความสอดคล้องของจำนวนยารอการบรรจุ วัสดุสำหรับการบรรจุที่เป็นสิ่งพิมพ์ และจำนวนหน่วยของยาสำเร็จรูปที่ผลิตได้ ถ้าพบว่ามีจำนวนผิดปกติต้องตรวจสอบหาสาเหตุจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

การควบคุมยาสำเร็จรูป

ให้มีการตรวจสอบบันทึกกระบวนการผลิต และบันทึกการบรรจุว่ามีข้อมูลถูกต้องและครบถ้วนก่อนอนุมัติให้นำยาไปจำหน่ายได้

Leave a comment